สายใยสหกรณ์

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด ที่พึ่งใกล้ตัวด้านการเงิน

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด ที่พึ่งใกล้ตัวด้านการเงิน

การประกอบอาชีพเสริมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการวางแผนเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุราชการ สำหรับมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีเงินทุนในการประกอบกิจการ การเก็บออมรายเดือนก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะพอกับการลงทุน การมองหาแหล่งทุนที่เรามั่นใจว่าได้ประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานเป็นสิ่งจำเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยองนี่แหละที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด

เริ่มต้นด้วยการกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง มาลงทุนทำสวนผลไม้ ปลูกขนุน เพราะเน้นผลไม้ที่ดูแลง่ายสามารถใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียน และวันหยุดในการดูแล ปลูกมังคุดและลองกองระหว่างต้นขนุน ตามด้วยทุเรียนปลูกผสมผสานกันไป ทุนที่นำมาใช้จ่ายก็ได้จากการกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง ปัจจุบันเหลือพืชหลักคือทุเรียนและมังคุด เป็นรายได้เสริมรายปีของครอบครัว

ต่อมาได้กู้เงินเพื่อซื้อที่ดินและปลูกผักสวนครัวหารายได้รายวันพอมีรายได้ใช้จ่ายในครัวเรือน เมื่อภารกิจในงานราชการเพิ่มมากขึ้นจึงเปลี่ยนจากพืชผักสวนครัวเป็นหอพัก และจากรายได้รายวันก็เปลี่ยนเป็นรายเดือน
การตัดสินใจในการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยองในวันนั้น ทำให้เรามีหลักฐานที่มั่นคงในวันนี้ จากอาชีพเสริมในการเริ่มต้นกลายมาเป็นอาชีพหลักหลังเกษียณ คิดและทำตามเป้าหมายที่กำหนด การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากเรามีวินัยในการใช้เงิน

นี่คือคำพูดของ ผอ.อัญชลี อิสรารักษ์ อดีต ผอ. โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

Posted by น้าหนวดไอที in นานาสาระ, สายใยสหกรณ์
ศูนย์การเรียนรู้ “บ้านไร่แผ่นดินเย็น”

ศูนย์การเรียนรู้ “บ้านไร่แผ่นดินเย็น”

“ที่ดินแปลงนี้ผมเริ่มต้นจากการกู้ยืมเงินสหกรณ์ครูระยองมาซื้อ”

นายธงชัย ขวัญบุรี สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด หมายเลข 3891 เจ้าของบ้านไร่แผ่นดินเย็น ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กล่าวกับงานประชาสัมพันธ์

เดิมทีเป็นนาร้าง เนื้อที่ 4 ไร่เศษ ได้ปรับพื้นที่เพื่อปลูกบ้าน พักอาศัยและลงต้นไม้นานาพรรณ ตั้งใจว่า เอาไว้เป็นที่พักพักผ่อน หย่อนใจหลังวัยเกษียณ พื้นที่เป็นบึงน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็น แผ่นดินก็ปลูกต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม แต่ต่อมาเกิดแนวคิดขึ้นใหม่ว่าน่าจะทำอะไรที่ก่อประโยชน์กับสาธารณะได้มากกว่าที่เป็นอยู่

จึงจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติ ปรากฏว่ามีสถานศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน นำนักเรียนนักศึกษา เยาวชน ทุกช่วงวัย มาทำกิจกรรมการเรียนรู้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การดำเนินงานด้านนี้มิได้มุ่งหวังทางธุรกิจ ทำเป็นวิทยาทานมากกว่า

แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ศูนย์การเรียนรู้บ้านไร่แผ่นดินเย็นต้องปิดตัวลง ในช่วงเวลานั้นผู้คนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านกิจกรรมหนึ่ง ที่นิยมทำกันมากคือการปลูกต้นไม้

“อาศัยว่าผมเป็นนักสะสมต้นไม้มานา”

“เมื่อก่อนใครขอก็ แจกแหลกถึงเวลานี้ลองปลูกขายดูบ้างเป็นไรไป”

ร้านต้นไม้ “พรรณไม้แผ่นดินเย็น” จึงเกิดขึ้น ขายทั้งดอกไม้ดอกไม้ประดับและไม้กินได้เนื่องจากที่นี่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีไม้สะสมอยู่มาก และสามารถขยายพันธุ์ได้เอง ราคาจึงถูกกว่า ที่อื่น แต่เนื่องจากอยู่พื้นที่ห่างไกลจึงเป็นขายทางออนไลน์

ก่อนเกษียณอายุราชการ ได้กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ครูระยอง จำกัด ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่เศษ เพื่อขยายพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ และทำแปลงเกษตรปลูกมะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ฝรั่ง มะขามยักษ์และพืชผักสมุนไพรเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายว่าจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“บางครั้งถ้าเรารอสะสมเงินก้อนให้ได้เพียงพอ เพื่อจะนำไปทำอะไรซักอย่างคงไม่ทันการณ์สหกรณ์ฯ เป็นที่พึ่งของเราได้ ขอเพียงเรากู้ยืมไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น วางแผนการใช้จ่ายเงินให้รอบคอบ อย่าเป็นหนี้จนเกินตัว”

นายธงชัย ขวัญบุรีกล่าวในที่สุด

Posted by น้าหนวดไอที in สายใยสหกรณ์
เพิ่มมูลค่าของเงินคือการลงทุนที่คุ้มค่า

เพิ่มมูลค่าของเงินคือการลงทุนที่คุ้มค่า

เข้าใจดอกเบี้ย เข้าใจเงิน เข้าใจการลงทุน คือการประสบความสำเร็จทางการเงิน

บ้านครูสัญชัย ครูชูศรี รอบรู้ ตั้งอยู่ 3/5 หมู่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง (หลังหมู่บ้านคุ้มหลวง)

ฝากข้อคิดในเรื่องการมีวินัยทางการเงิน ยกตัวอย่างถ้าเรากู้เงินสหกรณ์สัก 1 ก้อน เราต้องคิดว่าเงินที่กู้มาจะงอกเงยเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่กู้หรือไม่ เช่น ถ้ากู้เงินจำนวน 3,000,000 บาท ซื้อที่ดิน และทำบ้านเช่า แล้วจะให้เช่าเดือนละเท่าไร ที่จะคุ้มค่าและไม่ทำให้ เดือดร้อนกับเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผ่อนสหกรณ์เดือนละประมาณ 35,000 บาท ถ้าให้เช่าเดือนละ 6,000 บาท ก็จะได้เงินมาจ่ายโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลย จึงได้เริ่มความคิดในการสร้างบ้านเช่า ได้คุยกับญาติซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ที่จะขอซื้อที่ดินที่อยู่หน้าบ้านพัก

แนวคิดที่อยากซื้อก็คือ อยู่ใกล้บ้านติดบ้านเรา เมื่อญาติตกลง แบ่งขายให้ จึงตัดสินใจกันกับภรรยากู้เงินสหกรณ์ 3,000,000 บาท และรวบรวมเงินที่มีอยู่ซื้อที่ดินสร้างบ้านเช่า เพื่อให้เงินงอกเงยได้สร้างบ้านเช่า 6 หลัง พร้อมเฟอร์นิเจอร์เข้าอยู่ได้ทันที มีผู้เข้าอยู่เต็มทุกหลัง ได้เงิน ค่าเช่าพอในการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์รายเดือน

อีกอย่างหนึ่งที่ผมกู้เงินเพิ่มมูลค่าของเงินให้เกิดประโยชน์งอกเงย คือการกู้ซื้อสวนยางที่กรีดได้แล้ว ก่อนกู้ก็คิดคำนวณดอกเบี้ยว่าจะเสียให้สหกรณ์พอไหม โดยนำเงินค่าขายยางพาราเป็นค่าผ่อนเงินกู้ ผมกู้เงิน 3 ล้าน ซื้อที่ดินสวนยาง 2 แปลง

แปลงที่ 1 ที่บ้านเย็นเซ ตำบลบ้านนา 11 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท

แปลงที่ 2 ที่ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา 20 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท

ขณะนี้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ มาประมาณ 15 ปี พร้อมขายต้นยาง พอชำระในวงเงินที่กู้มาได้แล้ว

ขอขอบคุณสหกรณ์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือส่งเสริมสมาชิก ให้มีความเป็นอยู่ได้ดีขึ้นอย่างมีความสุข ทั้งนี้ทั้งนั้นสมาชิกต้องมีวินัยทางการเงิน ความคิดของคนโดยทั่วไปจะเก็บเงินก็ต่อเมื่อเหลือ จากการใช้แล้ว แต่ในข้อคิดของผม “เก็บก่อน เหลือแล้วใช้”

ครูสัญชัย กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

Posted by น้าหนวดไอที in สายใยสหกรณ์
ครูผู้ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง … สวนครัวรอบบ้าน จากอาชีพเสริมสู่ อาชีพจริง

ครูผู้ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง … สวนครัวรอบบ้าน จากอาชีพเสริมสู่ อาชีพจริง

ครูผู้ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง ... สวนครัวรอบบ้านจากอาชีพเสริมสู่ อาชีพจริง

แสงแดดยามบ่ายอันร้อนระอุ ข้าพเจ้าปักหมุด Google Maps  ไปบ้านครูลำใย  นิยมดี ข้าราชการบำนาญ อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 3 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง  คุณครูให้การต้อนรับด้วยผลไม้มังคุดในสวนและน้ำเย็นๆ อย่างเป็นกัลยานมิตร พร้อมกับพาเดินชมสวนผักที่เขียวชอุ่มรอบบ้าน มองไปทางใดก็ไม่มีที่ว่างเลย สารพัดผักสดๆขึ้นเต็มไปหมด ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า

เราอายุมากแล้ว อยากมีชีวิตตามที่ใจเราต้องการ เราชอบเกษตรชอบปลูกผัก เมื่อมีเวลาว่าง หน่วยงานไหนเขาจัดอบรมเราก็ไปร่วม เขาก็ให้กากน้ำตาลมาบ้าง ได้เข้าร่วมกับกลุ่มมังคุดแปลงใหญ่ เขาก็ให้เอาปุ๋ยเอายามาใช้ก่อน เก็บผลผลิตค่อยจ่าย ทางกรมวิชาการเกษตรเขาให้ความรู้เรื่องโรคและแมลงและมีวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรให้ และถ้าเราจะทำอาชีพเสริมอะไรต่อ เราไม่เข้าสังคมเกษตรเราก็จะไม่รู้  มีอาจารย์มหาวิทยาลัยนิด้ามาเยี่ยมบ้านเห็นเราปลูกผักต่างๆรอบบ้านก็ให้โรงเรือน อบต.ตาขันก็เชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายเวลามีคณะศึกษามาดูงาน   แล้วก็มีโครงการพระราชดำริ ก็ให้ไปเป็นวิทยากรเรื่องการปลูกผัก  เกษตรตำบลของศูนย์พระราชดำริตำบลตาขันก็มีการพัฒนาคน เขาก็พาไปศึกษาดูงาน เราก็ได้เปิดโลกกว้าง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความรู้มากขึ้นทำให้ไม่เหงา ”

ครูลำไย  เล่าต่อว่า

เราเกษียณแล้วเงินเดือนเหลือน้อยมีภาษีสังคมในงานต่างๆ ยังมีภาระหนี้สินต้องส่งธนาคารออมสินเพราะกู้ชพค.มา  ปัจจุบันต้องขอขอบคุณสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยองที่ช่วยรวมหนี้ให้  ได้ส่งสหกรณ์ทางเดียวทำให้มีเงินเหลือใช้    ในทุกๆวันการดำเนินชีวิตก็เดินตามแนวทางความพอเพียง อาหารก็ดักปลาในคลองบ้าง เก็บผักที่ปลูกไว้  อยากกินอะไรก็ปลูก   การปลูกผักต้องดูแลรดน้ำใช้น้ำบาดาลและน้ำคลอง เวลาบ่ายๆ ทุกวันก็นำผักไปขายที่ตลาดวัดลุ่ม  ส่งแม่ค้ากำละ 8บาท เขาขาย 10 บาท เราขายส่งเป็นกิโลวันละ 10ก.ก.บ้าง ได้วันละ 100-500 บาท ในเดือนหนึ่งๆก็ประมาณ 6,000-10,000 บาท   ที่จะเป็นรายได้เสริม  ขึ้นอยู่ที่ความขยันของเรา เลี้ยงไก่ประมาณ 50-60 ตัว มีมังคุด 65 ต้น  ตอนนี้อาชีพขายผักกลายเป็นอาชีพหลักไปแล้วเพราะมีรายได้ทุกวัน มีการปลูกผักบุ้ง  ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง  กวางตุ้งดอก   ผักกาดเขียว และก็เพิ่มส่งขายที่ตลาดนัดวัดหลวงปู่ทิม มีพริก ผักจิงจูฉ่าย พริกไทยอ่อน และมะนาว

เราก็เป็นแบบอย่างในการทำเกษตรในพื้นที่น้อย อาศัยพื้นที่เล็กๆรอบบ้านปลูกผัก ไม่ให้มีที่ว่างเลย ใช้ประโยชน์ที่ดินให้ได้มากที่สุด เราจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน เราก็ใช้ชีวิตสบายๆ อยากทำอะไรก็ทำ ใครชวนไปเที่ยวไหนก็ไป กิจกรรมของหน่วยไหนชวนเราก็ไป ตอนนี้ไปเป็นที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของอบต.ตาขัน  เราร่วมสืบทอดแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขอมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเทพฯ นั่นคือความฝันของเรา

ครูลำไยกล่าวด้วยความภาคภูมิใจและยิ้มอย่างมีความสุข

บทความโดย อัญชลี สารสุวรรณ์

Posted by น้าหนวดไอที in สายใยสหกรณ์
สุขใจชาวสวนผลไม้…อีกอาชีพเสริมของครูระยอง

สุขใจชาวสวนผลไม้…อีกอาชีพเสริมของครูระยอง

ตามเส้นทางสุขุมวิทแยกตลาดเขาดินมุ่งสู่บ้านน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง วันนี้หลังเลิกเรียน แสงแดดเริ่มอ่อนลง ข้าพเจ้าขอเดินชมสวนทุเรียนของครูบัณทูล ศรีชูเปี่ยม ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านเหมืองแร่ และเป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 2 ซึ่งกำลังหว่านปุ๋ยรดน้ำทุเรียน ที่มีผลดกเต็มต้นใกล้จะเก็บผลผลิตได้แล้ว บริเวณโคนต้นทุเรียน ได้ตัดหญ้าทั้งสวนเตียนโล่ง เขียวชอุ่มมองดูสะอาดตา บ่งบอกถึง ความเอาใจใส่ของเจ้าของสวน

คุณครูเล่าให้ฟังว่า

“เมื่อหลายปีก่อนได้ยื่นคำกู้เงินสหกรณ์ ออมทรัพย์ครูเพื่อใช้ในการดำรงชีพ เมื่อก่อนสหกรณ์ครู ได้ปล่อยเงินกู้ 3 ล้าน เมื่อมีคนมาบอกขายที่ ก็เลยมาซื้อบ้าน พร้อมที่ดิน 8 ไร่ 3 งาน ราคา 2 ล้านบาทเป็นสวนผลไม้มีมังคุดกับทุเรียนก็ทำมาเรื่อยๆใช้เวลา 3 ปีก็คืนทุน”

คุณครูเล่าไป ก็หว่านปุ๋ยไปด้วย พูดคุยกันไปพลาง

“เราไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่ ถ้าเก็บเงินก็ต้องใช้เวลานาน กู้ธนาคารก็ต้องมีหลักทรัพย์ จังหวะพอดีมีคนมาขายที่ในราคาพอเหมาะสม เราเลยตกลงซื้อ ปกติเราก็ใช้บริการกู้เงินสหกรณ์อยู่เสมอๆ ในการใช้จ่ายดำรงชีวิต ส่งลูกเรียน 2 คน ให้ลูกได้มีการศึกษาที่เท่าเทียม”

คุณครูบัณทูล พูดต่อว่า

“อาชีพครูมีเงินเดือนพอเลี้ยงตัวเอง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นที่พึ่ง ถ้าเราฝันอยากได้อะไร สหกรณ์ ก็จะช่วยเติมฝันให้เราได้ เราต้องรู้จักคิดวางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่มีสหกรณ์ก็ไม่มีวันนี้ ขอบคุณสหกรณ์ ที่ช่วยต่อเติมความฝันให้ครอบครัวของเราไปสู่จุดหมายปลายทางสามารถเพิ่มความมั่นคงในชีวิตเพราะครอบครัวเรานับเริ่มจากศูนย์ เราก็ต้องขยันทำมาหากิน หารายได้เสริมทำสวนสร้างร่วมมา กับอาชีพข้าราชการครู”

ครูบัณทูลกล่าวทิ้งท้าย ปาดเหงื่อแหงนมองลูกทุเรียน ที่พร้อมขายด้วยความภาคภูมิใจ.

Posted by น้าหนวดไอที in สายใยสหกรณ์
สุพาผ้าไทย เสื้อผ้าไทยอัดกาวคุณภาพดี ที่อยู่คู่เมืองระยองมาแล้วกว่า 13 ปี

สุพาผ้าไทย เสื้อผ้าไทยอัดกาวคุณภาพดี ที่อยู่คู่เมืองระยองมาแล้วกว่า 13 ปี

สุพาผ้าไทย เสื้อผ้าไทยอัดกาวคุณภาพดี ที่อยู่คู่เมืองระยองมาแล้วกว่า 13 ปี

ในปี พ.ศ.2537 กระผม นายนพดล แสนผูก อาจารย์ 1 ระดับ 2 ได้ย้ายจากจังหวัดน่าน มารับราชการครู ณ โรงเรียนระยองวิทยาคมนิคมอุตสาหกรรม และได้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยองเป็นเสมือนที่ปรึกษาทางการเงินของครอบครัวเมื่อเราต้องการเงินทุนในการพัฒนาวิชาชีพ หรือการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัวก็ได้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง เป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้บริการเกื้อกูลแก่สมาชิกเสมือนญาติมิตร

นอกจากการออมทรัพย์กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยองแล้ว ทางครอบครัวยังมีความต้องการเสริมรายได้ในครอบครัว ให้เพิ่มขึ้น จึงได้ใช้บริการเงินกู้เพื่อนำไปทำธุรกิจ “เสื้อผ้าไทยอัดกาว” ภายใต้แบรนด์ “สุพาผ้าไทย” โดยได้เริ่มจัดจำหน่ายครั้งแรก ในปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 13 ปี

จากการตัดเย็บเสื้อผ้าไทยอัดกาวที่มีคุณภาพ ราคาย่อมเยา ส่งผลให้เป็นที่นิยมในกลุ่มข้าราชการ กลุ่มชุมชนต่างๆ ทั้งในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง

ต้องขอขอบคุณสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด ที่เป็นทุนเกื้อหนุนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของครอบครัวและธุรกิจ “สุพาผ้าไทย” จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้างจนคุ้นหูกันว่า

“จะหาผ้าไทยต้องไป สุพาผ้าไทย ตำบลน้ำคอก ระยอง ... ฮิ”

สนใจติดต่อ สุพาผ้าไทย ที่เบอร์ : 081-7158799

หรือ ที่ Facebook : https://www.facebook.com/suphaphathai

ขอบคุณครับ

ข้อมูลโดย : นายนพดล แสนผูก  ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5

Posted by น้าหนวดไอที in สายใยสหกรณ์