เลาะรั้วโรงเรียน

ส่งเสริมทักษะอาชีพจากกิจกรรม Zero Waste School สู่นักออมตัวน้อย โรงเรียนวัดสระแก้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ระยองเขต 1

ส่งเสริมทักษะอาชีพจากกิจกรรม Zero Waste School สู่นักออมตัวน้อย โรงเรียนวัดสระแก้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ระยองเขต 1

โรงเรียนวัดสระแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 33 หมู่ 3 ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

เปิดทำการสอนระดับอนุบาล 2 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีโครงการเด่น คือ โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 ได้ดำเนินโครงการธนาคารขยะ นักเรียนมีบัญชีการออมเงินจากการนำขยะจากทางบ้านมาขายทุกคน โดย นายสำเนา สำราญจิตร์ และนายสิทธิพงษ์ ธรรมมุทิศ เจ้าของโครงการเล่าให้ฟังว่า กิจกรรมต่อมาก็คือการแก้ปัญหาขยะในโรงเรียน โดยเฉพาะใบไม้เราจึงทำ “กิจกรรมปุ๋ยหมักรักษ์โลก”

โดยมีขั้นตอนการทำปุ๋ยดังนี้

1. ทำคอกขนาด 3×3 เมตร วางอิฐบล็อกก่อให้สูงขึ้นไป 7 ก้อน

2. นำเศษใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า นำมาหมักทิ้งไว้ในคอก

3. เกลี่ยกองใบไม้ สูงราว 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 5 เซนติเมตร ใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ตามอัตราส่วนการใช้รดให้ทั่วทั้งแปลง สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้น ๆ

4. กลับกองปุ๋ยหมักทุก ๆ 30 วัน แล้วรดน้ำ และกลับปุ๋ยจนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง ใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน เป็นใช้ได้

การจำหน่ายปุ๋ยหมักช่วยสร้างเสริมรายได้สู่การออมเงินระดับห้องเรียนให้แก่นักเรียน คุณครูเล่าต่อว่า ได้ดำเนินต่อใน กิจกรรมปลูกข้าวโพดพันธุ์ราชินีทับทิมสยาม ของกิจกรรมชุมนุมซึ่งในปีแรกๆพ.ศ.2563 ที่ทดลองปลูกประสบปัญหา เช่น การเตรียมดิน เมล็ดพันธุ์ ลำต้นแคระแกรน เราจึงแก้ไขโดยนำปุ๋ยหมักของโรงเรียนมาปรับปรุงสภาพดิน ทำให้ได้ผลผลิตดีและสามารถนำไปจำหน่าย ในปี พ.ศ.2565 ได้ ส่วนวิธีการปลูกมีดังนี้

1. เตรียมดินโดยรถไถจากนั้นใส่ปุ๋ยหมัก ไถกลบตากดินประมาณ 7-10 วันแล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน

2. เพาะเมล็ดพันธุ์ ในถาดหลุมเพาะ และใช้ผ้าบางคลุมประมาณ 2-3 วัน รดน้ำทุกวัน เมื่อผ่านไป 7-10 วัน ต้นกล้าเริ่มแตกใบเป็น 2-4 ใบ นำไปลงดินปลูกได้

3. ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 – 40 ซม. รดน้ำ วันละ 2 ครั้ง

4. ใส่ปุ๋ย บำรุงต้น ใช้สูตร 16-16-16 ในช่วง 2 สัปดาห์หลังลงแปลงปลูก ช่วงอายุข้าวโพด 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร (21-0-0) และใส่อีกครั้งช่วงอายุข้าวโพดได้ 40 วัน

5. หมั่นถอนวัชพืช และเฝ้าระวังศัตรูพืช

6. เมื่อมีอายุประมาณ 65 – 70 วัน โดยสังเกตเส้นไหมของข้าวโพดที่แห้งและความแน่นของฝักข้าวโพดจึงเก็บผลผลิตได้

ท่าน ผอ.ภัสนันท์ กล่าวว่า “กิจกรรมต่างๆ ช่วยสร้างรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมการออมตั้งแต่เยาว์วัย เด็กๆมองเห็นคุณค่าที่มาของเงิน เป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน นักเรียนฝึกการจำหน่ายผลผลิตในชุมชนและจำหน่ายทางออนไลน์ โดยการนำเสนอและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Facebook Page ของโรงเรียน ช่วยปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะอาชีพ รักษ์สิ่งแวดล้อมที่บ้านและโรงเรียน ส่งผลต่อการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคต และโรงเรียนยังได้รับรางวัลโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ระดับดีมาก จากกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565-2566 ด้วย ท่านผอ.ยิ้มและกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ”

Posted by น้าหนวดไอที in นานาสาระ, เลาะรั้วโรงเรียน
ธนาคารโรงเรียนดีเด่น โรงเรียนวัดสารนารถธรรมาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 2

ธนาคารโรงเรียนดีเด่น โรงเรียนวัดสารนารถธรรมาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 2

โรงเรียนวัดสารนารถธรรมารามตั้งอยู่ ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เปิดทำการสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีโครงการเด่น คือ ธนาคารโรงเรียน คุณครูสิบเอกหญิงสุดใจ อินพะเนาว์ ที่ปรึกษาธนาคารโรงเรียน เล่าว่า

“ธนาคารโรงเรียนจัดตั้งโดยความ ร่วมมือกับธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอำเภอแกลง ได้เปิดทำการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556จนถึงปัจจุบัน มีมากกว่า 1,500 บัญชี จุดเด่น มีการเพิ่มปริมาณบัญชีนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครบ 100 % เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารตัวน้อย อยากให้น้อง ๆ พี่ ๆ ในโรงเรียนได้มีการออมกันทุกคน จึงขยันเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้ฝากเงินดิฉันรู้สึกภูมิใจ ที่เด็กๆ มีการออม มีความซื่อสัตย์ ได้ปลูกฝังให้เขามีนิสัยรักการออม ที่ติดตัว ไปใช้ชีวิต เมื่อออกจากโรงเรียนไปแล้ว”

ความต่อเนื่องของกิจกรรมธนาคารโรงเรียนที่ดำเนินการมากกว่า 10 ปี โดยเด็กหญิงศิริรัตน์ เห็นกระจ่าง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า

“หนูอยากรู้ว่าธนาคารเขาทำอะไรกันบ้าง เมื่อครูประกาศรับสมัครหนูก็มาสมัคร หนูเป็นพนักงานธุรการ บริการดูแลน้อง กรอกข้อมูลรับ-ฝากเงินส่งให้เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลและเจ้าหน้าที่ธนาคารฝ่ายบัญชี พนักงานของรา มีแผนกบันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์ แผนกธุรการ แผนกรับ-ฝากเงิน ตรวจเช็คข้อมูลวันละ 3-5 คน ธนาคารเปิดเวลา 07.30-8.30น. และเที่ยงเวลา 12.00-12.30 น. ถ้าคนเยอะ ก็จะบอกให้น้องเลื่อนมาฝากวันรุ่งขึ้น”

เด็กน้อยเล่าด้วยความภาคภูมิใจ ในงานที่ทำทุกวันและพูดต่อว่า

“ออมไว้ยามจำเป็นเมื่อไม่มีเงิน ก็มาถอน อยากซื้ออะไร ก็ซื้อได้ ”

คุณครูพัชมณ สรรพคุณ ครูผู้ดูแลธนาคารโรงเรียน เล่าต่อว่า

“การบริหารธนาคารเมื่อรับฝากเงินรายสัปดาห์ทุกวันศุกร์ จะนำเงินไปฝากธนาคารธ.ก.ส.ที่อยู่ใกล้โรงเรียน โรงเรียนไม่ได้ให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ใช้ขึ้นลงตามดอกเบี้ยธนาคาร เพราะโรงเรียนจัดตั้งธนาคารเพื่อ ส่งเสริมอุปนิสัยการออมให้นักเรียนเท่านั้น ธนาคารธ.ก.ส..จะมีกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียนในการส่งเสริมการออมมอบของขวัญของรางวัล เพื่อเพิ่มยอดฝากให้เด็กๆ มีกิจกรรมนักออมรุ่นเยาว์ กิจกรรมออม วันเด็ก กิจกรรมกล่องสุ่ม เป็นต้น ปัจจุบันยอดเงินฝากเป็นล้าน”

คุณครูกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และพูดทิ้งท้ายไว้ว่า

“เด็กเมื่อรู้จักออม ใช้เงินในอนาคตได้ ยามเดือดร้อน นำเงินช่วยแบ่งเบาผู้ปกครองได้”

ในการจัดการเรียนการสอน ครูทัศนีย์ โยธาวงศ์ครูผู้สอนสังคมศึกษา เล่าว่า

“กิจกรรมการส่งเสริมการออมเป็นหนึ่งฐานของการจัดการ เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโรงเรียนของเรา ยังเข้าโครงการโรงเรียนคุณธรรมของมูลนิธิยุวพัฒน์ที่ฝึกเด็กให้มีความซื่อสัตย์และความกตัญญู ใน การจัดการเรียนการสอนในวิชาสังคมศึกษาก็จะมีตัวชี้วัดให้นักเรียนรู้จักการออมซึ่งเราก็สอนเด็กตามสมการการออมคือ รายรับ-เงินออม=รายจ่าย เมื่อ เด็กๆรับเงินค่าขนมมาจากบ้าน เช้าจะเรียกร้องให้พ่อแม่ ซื้อของเล่นซื้อขนมก่อนมาโรงเรียนทางโรงเรียนก็ทำกิจกรรมการออม สอนเด็กให้ฝากก่อนใช้ ปรากฏว่านักเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เวลาเปิดบริการไม่เพียงพอจึงจัดกิจกรรม กล่องติดปีกโดยธนาคารโรงเรียนทำกล่องฝากเงิน ผ่านเจ้าหน้าที่ห้องเรียนและครูประจำชั้นรับฝากเงินตามชั้นเรียน ตัวแทนเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนตรวจสอบความถูกต้องและนำเงินมาส่งธนาคารรงเรียนเป็นแบบนี้ทุกวัน”

คุณครูยังกล่าวต่อว่า

“หนูภูมิใจที่เด็กอนุบาล1 ถึง ป.6 ได้ออมเงินทุกคน บางคน เรียนจบ ป.6 มีเงินออมเป็นหมื่นเป็นทุนการศึกษาเรียนต่อชั้นม.1 อย่างสบายไม่เดือดร้อนครอบครัว”

การดำเนินกิจกรรมผ่านการบริหารของท่าน ผอ.สาคร เจริญกัลป์ ที่อยากปลูกค่านิยมให้เด็ก ทำอย่างไรเงิน ที่มีอยู่ในมือจึงจะใช้ไม่หมด ออมเงินเป็นเรื่องที่ดี ส่งเสริมคุณธรรม ด้านความประหยัด ถ้าทำทุกวันจะติดเป็นนิสัย โตขึ้นจะเอาตัวรอดได้ ถ้ามีการวางแผนการใช้เงินตั้งแต่เด็กเขาจะไม่ลำบาก เพื่อ ให้เกิดความยั่งยืน ต้องสร้างแรงจูงใจ ให้กำลังใจทีมงานทั้งครูและเด็กๆ มีการส่งเสริมให้มี การออมอยู่เสมอ ต้องมีแคมเปญใครฝากได้100หรือเปิดบัญชีใหม่จะได้ ของรางวัล ให้คุณครูและ ผ.อ. ออมเงินกับธนาคารโรงเรียนเป็นแบบอย่าง หรือเช้ามาจะมีตะกร้าส่งเสริมการออมไปที่ชั้นเรียนเด็กๆ ก็ออมกัน เด็กๆ เมื่อเห็นเพื่อนๆ เขาออมเงินกัน ก็อยากออมด้วย ทุกคนก็ออมทุกวันความยั่งยืนคือการทำต่อเนื่อง จนกลายเป็นนิสัยและเป็นวัฒนธรรม ของโรงเรียน การให้กำลังใจทีมงานธนาคาร เด็กที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ที่มีฐานะยากจนก็ให้ทุนการศึกษา หรือเมื่อปิดบัญชีปีสำหรับเด็กป.6 จบการศึกษา ก็พากันไปเลี้ยงขอบคุณบ้าง ในวันเด็กก็มอบใบประกาศให้เด็กพนักงานธนาคารทุกคนโดยยกย่องชื่นชมให้เป็น “เด็กดีศรีสารนารถ” ท่านผอ.ได้กล่าวคติสอนใจว่า

“เงินที่มีที่ตัวเรา แล้วเราใช้หมด ถ้าเราจำเป็นจะไปหาที่ไหน เพราะฉะนั้นการออมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การวางแผนการใช้เงินที่ดี สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้ อย่างสง่างาม ถึงจะมีอายุมาก ก็ไม่ต้องพึ่งพาใคร”

Posted by น้าหนวดไอที in เลาะรั้วโรงเรียน
BANKHAI GSB Digital School Bank – ธนาคารโรงเรียนดิจิทัล โรงเรียนบ้านค่าย

BANKHAI GSB Digital School Bank – ธนาคารโรงเรียนดิจิทัล โรงเรียนบ้านค่าย

โรงเรียนบ้านค่าย ตั้งอยู่ที่ หมู่.6 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ มีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การบริหารงานของ ผอ. ดร. ดำรงค์ ศรีอร่าม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย ได้กล่าวว่า “การส่งเสริมการออมของโรงเรียนบ้านค่าย โดยการออมเงินผ่านบัญชี โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับธนาคารออมสินสาขาบ้านค่าย ให้ความรู้ในเรื่องการออมและ Application MyMo ออมเงินผ่่านระบบดิจิทัล ง่าย สะดวก ให้เด็กเกิดการออมเงิน โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนเด็กๆ เปิดบัญชีกับธนาคาร โดยมีเท่าไรก็ออมตามกำลัง นักเรียนร้อยละ 100 เป็นสมาชิกธนาคารโรงเรียน รณรงค์การออมแทรกในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และแผน การเรียนรู้ในฐานการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง

การฝึกวินัยในเด็กนักเรียนในเรื่องการออม การวางแผนใช้เงิน ในอนาคต สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีในการออมตั้งแต่เด็ก ฝึกใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับวิถีชีวิิตจริง เด็กจะเกิดความตระหนักในการออม ที่จะมีเงินใช้ในวันข้างหน้า โดยเด็กจะรู้จักการ แบ่งเงินจากที่ได้รับจากผู้ปกครอง เงินรับรายวัน รายสัปดาห์โดยมีทักษะการบริหารเงินได้ลงตัว จากรายจ่าย คือ เงินบริโภค เงินรับประทานอาหารกลางวัน เงินส่วนเหลือ และเงินออม ผ่านการสร้างนิสัยการออมและการวางแผนการใช้เงิน”

GSB Digital School Bank – ธนาคารโรงเรียนดิจิทัล โรงเรียนบ้านค่าย

ท่าน ผอ. เล่าถึงกิจกรรมของเด็กๆ

ที่มาของธนาคารโรงเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของฐานการเรียนรู้ วิถีการออม ของศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านค่าย เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ประโยชน์ ด้านการจัดการเงินของตนเองผ่านการออม ส่งเสริมความประหยัด รู้จักใช้เงินให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนักเรียนเป็นเจ้าของธนาคารและเจ้าของบัญชีรายบุคคล ของธนาคารออมสิน ที่ร่วมมือกับทางโรงเรียน ส่งเสริมการออมร่วมกัน

ครูจุฑารัตน์ พวงทองและครูรัชดาพร กุลวุฒิ ผู้ดูแลธนาคารดิจิทัลของโรงเรียนเล่าถึงการบริหารจัดการธนาคารให้ฟังว่า “ธนาคารจะเปิดเวลา 11.00 – 12.40 น. รับฝากเงินโดยทีมคณะกรรมการเด็กๆ ก็จะมีขั้นตอนคือ เด็กรับบัตรคิว ใบนำฝากเป็นสลิป ใบฝากทั่วไป กรอกชื่อ จำนวนเงิน โดยกรอก 2 ช่อง เพื่อมีต้นขั้วเก็บไว้เอง 1 ชุด ยื่นส่งให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร เช็คข้อมูลและกรอกข้อมูลในไฟล์ไดเร็คเครดิต ประมาณเที่ยง ก็โอนเงินทั้งหมดที่นักเรียนฝากด้วยระบบ C2SB ของธนาคารออมสิน โดยเด็กทุกคนต้องเปิดบัญชีกับธนาคารออมสิน เงินที่ฝากทุกวันก็จะเข้าบัญชีของแต่ละคน โรงเรียนเป็นเพียง สะพานการฝากเงิน และส่งเสริมให้เด็กรักการออมเท่านั้น

น.ส. นิลมณี มงคลสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.4/1 เล่าว่า แต่ละเดือนคณะกรรมการจะเปลี่ยนหน้าที่กัน รับเงิน การตรวจสอบข้อมูล การกรอกข้อมูลในระบบ โอนเงินตามรอบที่ธนาคารออมสินกำหนด”

น้องเล่าให้ฟังในบทบาทกรรมการธนาคารและเล่าวิธีการจัดการการเงินของตนเองว่า “หนูแบ่งเงินเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีที่หนึ่ง ออมไว้เพื่อใช้จ่าย และบัญชีที่สองออมไว้เพื่อการเรียนต่อ ในหนึ่งสัปดาห์ พ่อจะให้เงินไปโรงเรียน 300 บาท หนูก็จะหาเงินพิเศษทำ วันเสาร์และวันอาทิตย์ ได้อีก 200 บาท รวมเป็น 500 บาท หนูก็จะออม 100 บาท ฝากไว้เรียน 100 บาท และซื้ออุปกรณ์การเรียน 100 บาทและไว้ใช้จ่ายอื่นๆ อีก 200 บาท ต่อสัปดาห์ ถ้าออมแล้วในอนาคต หนูจะมีเงินเรียนต่อและยังสามารถนำเงินไปลงทุนทำอะไรได้อีกค่ะ”

น้องเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มและความภาคภูมิใจ

Posted by น้าหนวดไอที in เลาะรั้วโรงเรียน
สร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยงานอาชีพ NK.8 Water For Life School น้ำคือชีวิต

สร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยงานอาชีพ NK.8 Water For Life School น้ำคือชีวิต

สร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยงานอาชีพ NK.8 Water For Life School น้ำคือชีวิต

โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 8  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งนั่นคือ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำหนองใหญ่ อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งเป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทำการประมงเลี้ยงชีพจากรุ่นสู่รุ่น น้ำคือชีวิตของทุกชีวิต คุณครูคัคนานต์ สมศรี ซึ่งเป็นครูวิชาการของโรงเรียนบอกว่า

“ ด้วยเหตุนี้โรงเรียนของเรา ได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ เพื่อให้คงอยู่ และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในทุกๆด้าน ตลอดจนการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอด เราได้แนวคิดมากำหนดจุดเน้นของโรงเรียนเป็นSchool concept ที่ว่า  NK.8  water for life School  น้ำคือชีวิต โดยโรงเรียนจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนสำนึกและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ สร้างมูลค่าให้ตัวเอง เป็นการต่อยอดจากการเรียนรู้สู่การลงมือปฏิบัติ สรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยการทำเกษตรระบบหมุนเวียน เกษตรผสมผสาน การบำบัดน้ำเสีย และการอนุรักษ์น้ำ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ ให้เกิดความคุ้มค่า มีทักษะการทำงานเป็นทีม  ได้เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น และรู้จักพึ่งพาตนเอง มีทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในพื้นที่ตนเองรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นต่อยอดการขายวิสาหกิจชุมชนและนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้”

ทำไม NK.8  water for life School จึงเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ในพื้นที่ของตนเอง ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ประกอบด้วยน้ำ ดิน พลังงานจากทรัพยากรต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ พืชและสัตว์ เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ น้ำเป็นต้นกำเนิดของแหล่งผลิตห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต เพราะถ้าหากมีดินแต่ขาดน้ำ ก็ไร้ประโยชน์ อีกทั้งมนุษย์ยังใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคมากขึ้นทุกวัน  ดังนั้นจึงต้องถึงเวลาที่เราจะลงมือสู่การเรียนรู้การปฏิบัติและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง  โรงเรียนนิคมสร้างตนเองระยอง 8 ได้เข้าร่วมโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง ซึ่งท่านผอ.ศิวเทพ สมชิต ได้ตระหนักในการจัดการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน  โดยได้บอกกับข้าพเจ้าว่า

“ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561สำรวจพื้นที่การเรียนรู้ใกล้เคียง มีพื้นที่เกษตรท่องเที่ยวในต.แม่น้ำคู้  อ่างเก็บน้ำดอกกรายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ของสำนักงานเกษตรของตำบล มีหลักสูตรให้ประชาชนเกษตรกรได้ศึกษาและมีคอร์สอบรมให้ โดยทางโรงเรียนประสานผอ.ศูนย์จัดกิจกรรมโครงการให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทำเป็นแผนตารางการเรียนรู้ ทำปุ๋ยหมัก การเพาะเห็ด ที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ต่อมาในปีที่ 2 เราก็ขยายพื้นที่การเรียนรู้ของเรือนจำพื้นที่จังหวัดระยองที่อ่างแก้วมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น พาเด็กๆไปเรียนรู้และขยายแนวคิดไปยังโรงเรียนในเครือข่าย ทำแผนที่การเรียนรู้ร่วมกันไปเรียนรู้ในพื้นที่จริง ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงร่วมกัน”

เราได้สร้างพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็ก ให้ภูมิใจในอาชีพของบรรพบุรุษ ซึมซับโอกาสที่จะต่อยอด นำเทคโนโลยีการเกษตรของพ่อแม่  มาต่ออาชีพในอนาคต เมื่อมีความหมายต่ออาชีพแล้ว ครอบครัวก็จะอบอุ่นไม่เป็นภาระทางสังคมทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น สร้างคนดีคืนสู่สังคม ที่ผมและโรงเรียนมุ่งมั่นจัดการศึกษาให้ลูกหลานในชุมชนได้ใช้เวลาว่างไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ท่านผอ.กล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ.

โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 8  สพป.ระยองเขต 1

บทความโดย อารี แดงอุทัย และ พรทิพย์ เวชกามา

Posted by น้าหนวดไอที in เลาะรั้วโรงเรียน
Zero Waste School เส้นทางสู่โรงเรียนจัดการขยะ โรงเรียนบ้านเจริญสุข สพป.ระยองเขต 2

Zero Waste School เส้นทางสู่โรงเรียนจัดการขยะ โรงเรียนบ้านเจริญสุข สพป.ระยองเขต 2

ตอนเช้านักเรียนโรงเรียนบ้านเจริญสุข กำลังทำเขตพื้นที่รับผิดชอบ กวาดใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นนำมากองเก็บใส่เสวียนตามโคนต้นไม้ที่โรงเรียน เตรียมไว้ เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก เด็กชายผู้มีความขยันขันแข็งเล่าว่า

“ จะทำปุ๋ยหมักที่ต้นไม้ของฉันโดยเอาใบไม้ ขี้วัววางสลับชั้นกันไปเรื่อยๆ ทุกๆวันจนเต็มเสวียน มี 6 จุดแบ่งเป็นชั้นมีพี่ๆเป็นพี่เลี้ยง ”

ท่านผอ.วิษณุ กุณฑลบุตร ก็เล่าที่มาของโรงเรียนจัดการขยะว่า

“ ลองเก็บขยะ 1 เดือนจากชุมชนได้ขยะ 2,000-3,000 กิโลกรัม รับซื้อมาจากผู้ปกครองนักเรียนขอความร่วมมือจาก อบต.วังหว้า เรื่องรถขนขยะ วิทยากรในการคัดแยกขยะมาจากชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) เรามีแรงบันดาลใจจากขยะใบไม้ในโรงเรียนทีมีมาก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัท ระยองพาแนล ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน บริษัท วงษ์พานิช บริษัท ดาว สนับสนุนสมุดธนาคารขยะ เด็กๆมีสมุดฝากเงินธนาคารขยะทุกคนครั้งแรกสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองมีการ ประชุมปรึกษาหารือก่อนฝึกนักเรียนรู้จักสร้างรายได้และวิธีการจัดการขยะ ประเภทต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกฐานการเรียนรู้ ”

เด็กหญิงชญาภา คำแหง ประธานนักเรียนมีใบหน้ายิ้มแย้ม เล่าต่อว่า

“ การจัดการขยะของโรงเรียน โดยหนูคิดว่าการทำโครงการนี้มีประโยชน์ สนุก ช่วยให้โรงเรียนสะอาด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขยะมีราคาดีเพราะโรงเรียนใช้ราคาของร้านรับซื้อโดยไม่คิดกำไร มีการคัดแยกขยะ ได้รู้ว่าอะไรขายได้ ราคาสูง เช่น ขวด กระป๋องอลูมิเนียมที่ได้เรียนรู้จากป้ายนิทรรศการมีความรู้บูรณาการเข้าหลายวิชา คณิต สังคม พละ ได้ออกกำลังกายมีทุนซื้ออุปกรณ์การเรียน ตอนเรียนต่อ ม.1 ช่วยให้โลกสะอาด ลดพลาสติกการจัดการขยะในห้อง มี 5 ถัง ใส่ขยะรีไซเคิล/ขยะทั่วไป/ฝุ่น/เศษดินสอและกระดาษ ”

อีกทั้ง คุณครูสุกัลยา คำต่อตั้ง กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราทุกคนไม่ร่วมมือกัน

กิจกรรมของเรามี 8 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย

  • ฐานปุ๋ยหมักจากใบไม้
  • ฐานธนาคารขยะ
  • ฐานผักปลอดสารพิษ
  • ฐานเพิ่มมูลค่าจากขยะทั่วไป
  • ฐานน้ำหมักชีวภาพ
  • ฐานถังดำรักษ์โลก
  • ฐานคัดแยกขยะในโรงเรียน
  • ถังมหัศจรรย์

โดยธนาคารขยะคือฐานที่มีความภาคภูมิใจ เปิดรับซื้อขยะเดือนละ 1 ครั้ง วันศุกร์ที่ 2 ของเดือน ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการสภานักเรียน จัดการขยะเต็มรูปแบบ มีสมาชิกตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครูและบุคคลากรเป็นสมาชิก 100% เต็ม มีการแจกบัตรคิว ชั่ง จดบันทึก จัดเก็บ มีการจัดการ มีการจัดทำป้ายความรู้ขยะแต่ละประเภท มีป้ายบอกราคาวันที่รับซื้อในแต่ละวัน สิ่งที่ได้เกิดผลกับเด็กๆที่มีเงินออม ก็ถือว่าประสบ ความสำเร็จในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญอยากขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ท่านผอ.วิษณุ เล่าต่อว่า

“ ผมมองว่าการสร้างจิตสำนึก จัดการขยะ เห็นของไม่มีค่า ทำให้มีค่า นำมาคัดแยกทำให้เด็กมีทุนการศึกษา ชุมชน ของเรายากจน เรารับซื้อราคาสูง ทำให้เด็กในครอบครัวมีความสุข ผมเคยเจอเด็กกับพ่อแม่ไปเก็บขยะตามเส้นทาง ซึ่งเขาเห็นรายได้ที่จะขายขยะเป็นเงินได้ เราทำกิจกรรมโรงเรียนจัดการขยะนี้เป็นการสอนเด็กๆ ด้วยกระบวนการ Active Learning โดยเด็กๆ มีการชั่งขยะ การคำนวณราคา การคิดราคา การพบปะพูดคุยสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานและ องค์กร เป้าหมายอยู่ที่นักเรียน ปัญหาขยะมีมากในปัจจุบัน ต้องสร้างนิสัยที่ดีให้กับเยาวชนในวันนี้ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีสมรรถนะที่ดีในวันหน้า อยากให้นักเรียนบ้านเจริญสุข ได้รับ การปลูกฝังให้เป็นคนที่ดีรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อเติบโตในวันข้างหน้า ถ้าใคร พูดถึงโรงเรียนบ้านเจริญสุขก็จะนึกถึงโรงเรียนจัดการขยะ ”

ท่านผอ.วิษณุ กุณฑลบุตร กล่าวด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา.

Posted by น้าหนวดไอที in เลาะรั้วโรงเรียน
โรงเรียนนักเกษตรน้อย ตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โรงเรียนวัดไผ่ล้อม จังหวัดระยอง

โรงเรียนนักเกษตรน้อย ตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โรงเรียนวัดไผ่ล้อม จังหวัดระยอง

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีกระบวนการคิด ปฏิบัติจริง มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ในการทำงานสร้างอาชีพอย่างสร้างสรรค์ รวมไปถึงส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้และทักษะอาชีพเกษตรกรมีรายได้ ระหว่างเรียน รู้จักประหยัดอดออม มีความรอบคอบ มีความสามัคคี ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

โดยใช้กระบวนการ PHAILORM MODEL ร่วมกับศาสตร์พระราชาหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นฐาน และ Deming Cycle (PDCA)

คณะครูและนักเรียนร่วมกันทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายตามโครงการโดยได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักชนิดต่างๆ และทำปุ๋ยหมักด้วยการลงมือปฏิบัติจริงในทุกๆ ขั้นตอน ดังนี้

  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กิจกรรมปลูกผักต้นอ่อน
  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กิจกรรมปลูกผักบุ้ง
  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กิจกรรมปลูกต้นหอม
  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กิจกรรมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กิจกรรมเตยมหัศจรรย์
  • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กิจกรรมทำปุ๋ยหมักใบไม้/มูลวัว

โครงการ “โรงเรียนนักเกษตรน้อย ตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9” ได้จัดทำอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ

ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การประกวดวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ ตามแนวทางวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ หัวข้อ “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งอาชีพ” โดยใช้พื้นที่เป็นฐานปีการศึกษา 2565 ระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1

ข้อมูลโดย : นางจุฑามาศ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไผ่ล้อม

Posted by น้าหนวดไอที in เลาะรั้วโรงเรียน