ส่งเสริมทักษะอาชีพจากกิจกรรม Zero Waste School สู่นักออมตัวน้อย โรงเรียนวัดสระแก้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ระยองเขต 1

โรงเรียนวัดสระแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 33 หมู่ 3 ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

เปิดทำการสอนระดับอนุบาล 2 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีโครงการเด่น คือ โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 ได้ดำเนินโครงการธนาคารขยะ นักเรียนมีบัญชีการออมเงินจากการนำขยะจากทางบ้านมาขายทุกคน โดย นายสำเนา สำราญจิตร์ และนายสิทธิพงษ์ ธรรมมุทิศ เจ้าของโครงการเล่าให้ฟังว่า กิจกรรมต่อมาก็คือการแก้ปัญหาขยะในโรงเรียน โดยเฉพาะใบไม้เราจึงทำ “กิจกรรมปุ๋ยหมักรักษ์โลก”

โดยมีขั้นตอนการทำปุ๋ยดังนี้

1. ทำคอกขนาด 3×3 เมตร วางอิฐบล็อกก่อให้สูงขึ้นไป 7 ก้อน

2. นำเศษใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า นำมาหมักทิ้งไว้ในคอก

3. เกลี่ยกองใบไม้ สูงราว 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 5 เซนติเมตร ใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ตามอัตราส่วนการใช้รดให้ทั่วทั้งแปลง สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้น ๆ

4. กลับกองปุ๋ยหมักทุก ๆ 30 วัน แล้วรดน้ำ และกลับปุ๋ยจนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง ใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน เป็นใช้ได้

การจำหน่ายปุ๋ยหมักช่วยสร้างเสริมรายได้สู่การออมเงินระดับห้องเรียนให้แก่นักเรียน คุณครูเล่าต่อว่า ได้ดำเนินต่อใน กิจกรรมปลูกข้าวโพดพันธุ์ราชินีทับทิมสยาม ของกิจกรรมชุมนุมซึ่งในปีแรกๆพ.ศ.2563 ที่ทดลองปลูกประสบปัญหา เช่น การเตรียมดิน เมล็ดพันธุ์ ลำต้นแคระแกรน เราจึงแก้ไขโดยนำปุ๋ยหมักของโรงเรียนมาปรับปรุงสภาพดิน ทำให้ได้ผลผลิตดีและสามารถนำไปจำหน่าย ในปี พ.ศ.2565 ได้ ส่วนวิธีการปลูกมีดังนี้

1. เตรียมดินโดยรถไถจากนั้นใส่ปุ๋ยหมัก ไถกลบตากดินประมาณ 7-10 วันแล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน

2. เพาะเมล็ดพันธุ์ ในถาดหลุมเพาะ และใช้ผ้าบางคลุมประมาณ 2-3 วัน รดน้ำทุกวัน เมื่อผ่านไป 7-10 วัน ต้นกล้าเริ่มแตกใบเป็น 2-4 ใบ นำไปลงดินปลูกได้

3. ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 – 40 ซม. รดน้ำ วันละ 2 ครั้ง

4. ใส่ปุ๋ย บำรุงต้น ใช้สูตร 16-16-16 ในช่วง 2 สัปดาห์หลังลงแปลงปลูก ช่วงอายุข้าวโพด 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร (21-0-0) และใส่อีกครั้งช่วงอายุข้าวโพดได้ 40 วัน

5. หมั่นถอนวัชพืช และเฝ้าระวังศัตรูพืช

6. เมื่อมีอายุประมาณ 65 – 70 วัน โดยสังเกตเส้นไหมของข้าวโพดที่แห้งและความแน่นของฝักข้าวโพดจึงเก็บผลผลิตได้

ท่าน ผอ.ภัสนันท์ กล่าวว่า “กิจกรรมต่างๆ ช่วยสร้างรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมการออมตั้งแต่เยาว์วัย เด็กๆมองเห็นคุณค่าที่มาของเงิน เป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน นักเรียนฝึกการจำหน่ายผลผลิตในชุมชนและจำหน่ายทางออนไลน์ โดยการนำเสนอและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Facebook Page ของโรงเรียน ช่วยปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะอาชีพ รักษ์สิ่งแวดล้อมที่บ้านและโรงเรียน ส่งผลต่อการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคต และโรงเรียนยังได้รับรางวัลโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ระดับดีมาก จากกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565-2566 ด้วย ท่านผอ.ยิ้มและกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ”