เพราะมีจำกัด …จึงมีค่า คุณสมบัติที่ดีของสิ่งของที่มีคุณค่าอย่างเป็นเหตุเป็นผล

คำว่า “มีจำกัด” หมายรวมถึง การผลิตได้ยากและปลอมแปลงไม่ได้ แล้วอะไรบ้างที่มีจำกัดบนโลกใบนี้

เศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ซึ่งเริ่มต้นจากเรื่องอุปสงค์และอุปทานกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดคุณค่าของสิ่งของขึ้นมา หากเราย้อนกลับไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “จตุคามรามเทพ” ที่ทุกวัดในประเทศไทยแห่กันผลิตออกมา จนแทบทุกบ้านสามารถมีไว้ใน ครอบครองได้ และสามารถขายได้ราคาแพง และเมื่อตลาดการซื้อขายกลับสู่ปกติ ก็เหลือจตุคามบางรุ่นเท่านั้นที่ยังมีราคา แต่ส่วนใหญ่มูลค่าหายไปกว่า 10,000% หมายถึงซื้อมา 100,000 บาท แต่ขายได้ 10 บาท

หรือหากย้อนไปเก่ากว่านั้น ก็คงจะเป็นวิกฤติฟองสบู่ครั้งแรกบนโลกใบนี้ ที่เรียกว่า “วิกฤตฟองสบู่ดอกทิวลิป” ที่ทุกคนต้องการ หัวทิวลิปเพื่อนำไปปลูกเพื่อแสดงฐานะทางการเงินของตนเอง ถึงขนาดที่ว่ามีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้ได้ครอบครองหัวทิวลิป เมื่อ ความต้องการของมนุษย์ กลายเป็นการเก็งกำไร การใช้เข็มอันเล็กๆ ที่มีชื่อตรงกันข้ามกับความโลภนั่นคือ “ความกลัว” สุดท้ายตลาด ดอกทิวลิปก็ล่มสลายไป

แล้วอะไรบนโลกใบนี้ที่มีจำกัดบ้าง? หากมองในเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงอนุรักษ์นิยมเท่าที่อธิบายได้ตามหัวเรื่อง ก็คงจะมีเพียงทองคำ และที่ดินเท่านั้นที่เข้าข่ายกับคำว่า “มีจำกัด” จึงทำให้สองสิ่งนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา เท่าที่ผมทราบมา สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระยอง จำกัด หลายๆ คนที่เป็นวัย Baby Boomer ที่เคยกู้เงินกับสหกรณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว และนำไปซื้อที่ดิน เก็บไว้เป็นสินทรัพย์ มาวันนี้หลายๆ ท่านได้เห็นมูลค่าที่ก้าวข้ามผ่านเวลาว่าเป็นอย่างไร หรือแม้แต่คนที่ซื้อทองคำเก็บไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว (ถ้าจำไม่ผิดทองคำบาทละ 400 บาท) วันนี้ได้เห็นทองคำในราคาบาทละ 40,000 บาท คำถามคือสินทรัพย์เหล่านี้มันแพงขึ้นเพราะอะไร?

ฝากคำถามให้สมาชิกได้ขบคิดกันว่า “เงินบาท” เป็นสิ่งที่ ผลิตได้จำกัดหรือไม่ ผลิตได้ยากหรือไม่ ปลอมแปลงได้หรือไม่? ในวันที่เราถูกเติมเงินเข้ามาในระบบเรื่อยๆ ผ่านนโยบายรัฐ เช่น เรารักกัน คนละครึ่ง หรือแม้กระทั่งเงินดิจิทัล และอัตราเงินเฟ้อแบบทบต้น ของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี (โดยประมาณ)

แล้วคุณละ เชื่อว่าเงินเฟ้ออ่อนๆ ดีกับเศรษฐกิจไหม?